วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

แรงงานจากพม่า"เยอะ"แต่ไม่ได้"ยึด"มหาชัย


ภาคภูมิ  แสวงคำ


ภาพจาก www.thairath.co.th


 สภาพความเป็นจริง (ที่ต่างจากพาดหัวข่าว)


      หลังจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐนำเสนอ ข่าวตู้ ATM ของธนาคารแห่งหนึ่งมีเมนูเป็นภาษาพม่าและใช้ข้อความทำนองภาษาพม่ายึดมหาชัยตั้งแต่ปี 2553 นั้น  (ดูที่http://www.thairath.co.th/content/region/102327 )ข้อเท็จจริงคือแรงงานข้ามชาติในสมุทรสาครรับเงินค่าจ้างผ่านทางบัตร ATM ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กรุงเทพ กสิกรไทย และทหารไทยกว่า 3  ปีแล้ว

      จากเดิมที่แรงงานไม่สามารถเปิดบัญชีเงินฝากหรือทำธุรกรรมได้ การจะส่งเงินกลับประเทศพม่าต้องใช้วิธีโอนเงินเป็นทอดๆผ่านนายหน้าในพื้นที่จนถึงนายหน้ารับโอนเงินบริเวณชายแดน (ซึ่งต้องกดเงินจากตู้ ATM เช่นกัน)และจะถูกหักเงินประมาณร้อยละ 3-7

    ต่อมาธนาคารต่างๆ เริ่มทยอยให้แรงงานข้ามชาติที่มีใบอนุญาตทำงานสามารถเปิดบัญชีเงินฝาก (จากเดิมที่พิจารณาจากระยะเวลาการอาศัยในประเทศไทย และประเภทของสิทธิอาศัย เช่น มีเอกสารใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว  หนังสือเดินทางหรือใบอนุญาตทำงานที่ยังไม่หมดอายุฯลฯ) ส่วนเมนูภาษาพม่าบนตู้ ATM   เริ่มปรากฏตั้งแต่ประมาณเดือนมกราคม 2553

ATM ...สะดวกต่อแรงงานและนายจ้าง

สบายต่อธนาคารที่ต้องการลูกค้า

       ประโยชน์ที่ตกแก่แรงงานมากที่สุดคือความสะดวกและปลอดภัย เมื่อมีบัตรATMแรงงานไม่ต้องเสี่ยงพกเงินสดให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่จี้ชิงทรัพย์อยู่บ่อยครั้งในยามค่ำคืนขณะเดินทางกลับจากงาน บ้างก็ปล้นกันตามห้องพัก มีทั้งที่ปลอมเป็นตำรวจหรือถูกเจ้าหน้าที่ทุจริตบางคนเข้าตรวจค้นห้องและรีดไถเงินสดไปหมด แรงงานก็ไม่กล้าแจ้งความด้วย ทว่าเรื่องเหล่านี้มักไม่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อกระแสหลัก  ต่างจากข่าวที่แรงงานข้ามชาติเป็นผู้กระทำผิด ที่มักได้รับความสนใจและฝังใจจำตลอดมา

        ด้วยจังหวัดสมุทรสาครประกอบด้วยโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากที่ ล้วนพึ่งพาแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ข้อมูลของจังหวัดสมุทรสาครระบุชัดว่า GDP ของจังหวัดสมุทรสาครสูงเป็นอันดับสองของประเทศไทย (รองจากจังหวัดระยอง) เมื่อเศรษฐกิจดี ประกอบกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดสูงถึงวันละ 300 บาท ย่อมเป็นปัจจัยดึงดูดให้แรงงานมาอาศัยและทำงานจำนวนมากในพื้นที่ ส่วนหนึ่งเป็นภาระต่อสังคมไทยหลายประการ แต่อีกแง่หนึ่งต้องยอมรับว่าแรงงานก็จับจ่ายซื้อสินค้าและบริการให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของจังหวัด 

     ทุกวันนี้บรรดาห้างร้านเล็งเห็นแรงงานเป็นเป้าหมายสำคัญที่ต้องทำการตลาด แรงงานรายหนึ่งเปิดเผยว่าก่อนห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่จะเปิดบริการได้เรียกไปสัมภาษณ์ว่า แรงงานมอญพม่านิยมใช้สินค้าแบบใดบ้าง


ป้ายเชิญชวนทำบุญในวัด


ป้ายบอกราคาในห้างสรรพสินค้า

ภาษาพม่าอยู่ที่ใดบ้างในสมุทรสาคร

        เราสามารถพบเห็นป้ายภาษาพม่าได้ตามชุมชนทั่วไปไม่ต่างจากป้ายภาษาอังกฤษและภาษาจีนหน้าร้านค้า (ซึ่งอันที่จริงคนไทยส่วนใหญ่ก็อ่านและแปลภาษาจีนหรืออังกฤษไม่ใคร่ได้อยู่แล้ว) ทั้งป้ายบอกเส้นทางรถโดยสาร รับสมัครงาน ห้องว่างให้เช่า คลินิกโรงพยาบาล วัด ร้านถ่ายรูป ร้านเสริมสวย ร้านถ่ายเอกสาร ร้านขายโทรศัพท์มือถือ ร้านขายรถจักรยานยนต์ (กฎหมายเปิดให้แรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายสามารถซื้อรถและเป็นเจ้าของได้แล้ว)แม้กระทั่งร้านขายทอง  เริ่มปรากฏป้ายภาษามอญพม่าเช่นเดียวกับร้านค้าบริเวณจังหวัดอื่นตามแนวชายแดนลาวและกัมพูชาที่แสดงป้ายภาษาลาวและกัมพูชา  หรือหากไปตามโรงแรมแถวพัทยาก็จะมีป้ายภาษารัสเซียปรากฎอยู่ทั่วไป  








ร้านขายรถมอเตอร์ไซค์ก็พลอยได้ลูกค้ากลุ่มใหม่เพิ่ม


     นอกจากนี้ โรงเรียนทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาในหลายจังหวัดเริ่มเปิดหลักสูตรอาเซียนศึกษา ซึ่งการสอนภาษาพม่าก็เป็นหนึ่งในหลักสูตรที่หลายคนไม่ว่านายจ้าง หัวหน้างานในสถานประกอบการ หน่วยงานราชการในจังหวัดสมุทรสาคร ฯลฯ เริ่มหันมาให้ความสนใจมากขึ้นทุกขณะ




   

        ข้อกล่าวหาว่าแรงงานจากพม่ายึดมหาชัยเป็นข้อกล่าวหาฉกรรจ์ที่เจือด้วยอคติ แรงงานส่วนใหญ่หวังเพียงมาขายแรงงานเพื่อหาเงิน ไม่ได้หวังครอบครองเป็นเจ้าของกิจการหรือหวังยึดเมืองเช่นการศึกสงครามสมัยโบราณอีกแล้ว

                สื่อจึงไม่ควรพาดหัวข่าวในลักษณะที่หวือหวาแต่กลับสร้างความหวาดระแวงต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม         ทั้งที่ปี 2558 จะกลายเป็นประชาคมร่วมกันในภูมิภาค


    

ประเทศพม่าเปิด ธนาคารไทยก็เปิด

 

                                         ภาพจาก www.kasikornbank.com


 
                                        ศูนย์แลกเงินที่พม่า (ภาพจาก Reuters)


       นับแต่ต้นปี 2555 หลังจากพม่าจัดการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา  ส่งผลให้นานาประเทศทั้งสหภาพยุโรป สวิสเซอร์แลนด์ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ทยอยส่งสัญญาณยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่า ล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2555 มิติใหม่ในการทำธุรกรรมของแรงงานจากพม่าในประเทศไทยก็ถือถึงคราวเปลี่ยนโฉมหน้า  และน่าจะส่งแรงสั่นสะเทือนต่อธุรกิจนายหน้ารับโอนเงินทั้งหลาย  เนื่องจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (K BANK) จับมือกับ Asia Green Development Bank Ltd. (AGD Bank)  ซึ่งเป็นหนึ่งในธนาคารชั้นนำของประเทศพม่าเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายเงินทุน และแรงงานระหว่างชาติอาเซียนที่จะเปิดเสรีมากขึ้น โดยเฉพาะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558

      ในช่วงแรกธนาคารกสิกรไทย และเอจีดีแบงก์ จะเปิดบริการ “โอนเงินไปประเทศพม่า” ผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารกสิกรไทย เช่น เคเอทีเอ็ม (K-ATM) โดยสามารถโอนเงินได้สูงสุด 90,000 บาท หรือ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อวัน และสามารถรับเงินได้ภายใน1วันที่เอจีดีแบงก์ในประเทศพม่า โดยจะเปิดให้บริการตั้งแต่1 กรกฎาคม 2555 ผ่านเคาน์เตอร์สาขาธนาคารกสิกรไทยและเครื่องเอทีเอ็ม(K-ATM)นำร่องใน11จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร นนทบุรี ปทุมธานี เชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง สุราษฎร์ธานี สงขลา และภูเก็ต

       ทั้งนี้  ธนาคารคาดว่าจะมีชาวพม่าใช้บริการโอนเงินกลับประเทศพม่ากับธนาคารประมาณ 5 แสนคน หรือประมาณ 30% ของแรงงานชาวพม่าที่ทำงานถูกต้องตามกฎหมายที่มีอยู่ประมาณ 1.6 ล้านคน
                                        
                                  ขอบคุณข้อมูลจาก www.kasikornbank.com

        ผู้เขียนเห็นว่าหลังจากพม่าประกาศอัตราแลกเปลี่ยนเงินแบบลอยตัวเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2555 โดยอัตราอ้างอิงอยู่ที่ 818 จั๊ตต่อดอลลาร์  ความร่วมมือของธนาคารกสิกรไทยและเอจีดีแบงก์ในการให้บริการโอนเงินไปประเทศพม่าจะอำนวยความสะดวกในด้านประหยัดเวลา ค่าธรรมเนียมการโอนและรับประกันว่าเงินจะถึงมือผู้รับแบบไม่ต้องไปลุ้นว่านายหน้าที่รู้จักจะหักหลัง

     ขณะที่ข้อครหาว่าแรงงานข้ามชาติพากันขนเงินกลับประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี    สำหรับการทำธุรกรรมต่างๆ มีพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 โดยธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจควบคุมการนำเงินบาทติดตัวออกไปนอกประเทศ (ทั่วไปไม่เกิน 50,000 บาท) หรือการโอนเงินทุนออกไปนอกประเทศ  กรณีลงทุนในกิจการที่ต่างประเทศ(วงเงินไม่เกินปีละ10ล้านดอลล่าร์สหรัฐ) ซึ่งโดยสภาพของแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่จัดเป็นผู้มีรายได้น้อย ที่เป็นเหตุให้ไม่เสียภาษีรายได้

     ปัจจุบันเข้าสู่ยุคพิสูจน์สัญชาติเพื่อเป็นแรงงานถูกกฎหมายตามหน้าที่”รัฐก็ต้องคุ้มครอง“สิทธิ”การทำธุรกรรมการเงินตามสมควร ดีกว่าปล่อยให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ของธุรกิจนายหน้านอกระบบที่รับโอนเงินแต่กลับควบคุมตรวจสอบไม่ได้เลย

  ที่สำคัญคือหากเกรงว่าแรงงานข้ามชาติจะใช้การโอนเงินเป็นช่องทางฟอกเงินที่ได้จากธุรกิจผิดกฎหมาย ไม่ว่าการค้ายาเสพติด..ค้าอาวุธ..ค้ามนุษย์ ฯลฯ ก็ย่อมสามารถตรวจสอบการทำธุรกรรมผ่านทางธนาคารได้สะดวกยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐ  โดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคงแบบเต็มๆ.


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

                                              

     

 

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

All new 2012 Burmese Temporary passport (Thai)

 

          หนังสือเดินทางชั่วคราวพม่าโฉมใหม่

          เปลี่ยนไวจนใครก็ตามไม่ทัน !!!!


             
            นับแต่กระทรวงแรงงานบรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลพม่า ในการตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติในไทยเพิ่ม 5 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรปราการ สุราษฎร์ธานีและเชียงใหม่ (จากเดิมมีอยู่ 3 แห่งที่เชียงราย ตากและระนอง) ตั้งแต่ต้นปี 2555 นัยว่านอกจากเป็นการอำนวยความสะดวกแก่แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่อาศัยและทำงานในประเทศไทยที่ไม่ต้องอดตาหลับขับตานอนเบียดเสียดยัดเยียดไปทำหนังสือเดินทางถึงชายแดนหรือเสียกำลัังการผลิต หรือเสียค่ารถโดยสารไปยังศูนย์พิสูจน์สัญชาติเดิมทั้ง 3 แห่ง ที่จังหวัดเมียวดี จังหวัดเกาะตอง (เกาะสอง) และจังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า
 

            passport ออกได้.. ก็เปลี่ยนใหม่ได้

           สิ่งที่สร้างความลึกลับซับซ้อน..ซ่อนเงื่อนเพื่อนงงแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ด้วยจู่ๆรัฐบาลพม่าก็ประกาศเปลี่ยนรูปแบบหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) ของแรงงานพม่าที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ (Nationality Verification) จากเล่มสีแดงเป็นเล่มสีม่วงแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย       จากที่ก่อนหน้านี้ไม่นานเพิ่งประกาศขยายอายุของหนังสือเดินทางชั่วคราวจากไม่เกินครั้งละ 2 ปี (รวมเป็น 4 ปี) เป็นไม่เกินครั้งละ 3 ปี  รวมเป็น 6 ปี  และเปลี่ยนรูปแบบของบัตร Overseas  Worker เสียใหม่
                            
             ลำพังแรงงานรายใหม่ที่เพิ่งพิสูจน์สัญชาติคงไม่เป็นปัญหานัก  แต่กับแรงงานรายเก่าที่พิสูจน์สัญชาติ และหนังสือเดินทางที่จะมีอายุครบ 4 ปี (ต่ออายุครั้งละ 2 ปี รวม 2 ครั้ง) จะต้องไปขยายอายุหนังสือเดินทาง หรือเปลี่ยนไปออกเล่มเป็นแบบใหม่สีม่วงแทนเล่มสีแดงที่ครบอายุวีซ่าสองปีทุกคน (โดยทางการพม่าจะไม่ผลิตหนังสือเดินทางเล่มสีแดงอีกต่อไป)   และนั่นเท่ากับถึงเวลาแรงงานต้องเสียเงิน (กันอีกแล้ว)...


     หนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) แบบเดิม สีแดง
  ภาพจาก http://bangkok.immigration.go.th



      หนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) แบบใหม่ สีม่วง
 ภาพจาก Bangkok Post
            



                ส่วนอันนี้คือ ใบผ่านแดนชั่วคราว (Temporary  Borderpass)




                   ตราประทับของสถานทูตที่ขยายอายุหนังสือเดินทาง
                          ภาพจาก   Visa Companar


           จากการสังเกตการณ์ ณ ศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าที่สมุทรปราการ สมุทรสาคร และกทม. กรมการจัดหางานใช้ระบบให้บริษัทเอกชนดำเนินการออกเล่มหนังสือเดินทาง ซึ่งภาพรวมยังเป็นไปอย่างล่าช้า  เพราะแรงงานหลายคนเดินทางไปเข้าคิวตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น รอแล้วรอเล่ากว่าจะได้กลับก็หลังพระอาทิตย์ตก  โดยเฉพาะที่สมุทรสาครมีแรงงานมารอคิวอย่างหนาแน่น (รวมทั้งที่มาจากจังหวัดอื่นๆ ทั้งชลบุรี นครปฐม ฯลฯ) ถึงขั้นปูที่นอนรอ  กว่าจะเสร็จกระบวนการทั้งสัมภาษณ์ประวัติ ถ่ายรูป พิมพ์ลายนิ้วมือ ประทับวีซ่าโดยตม.ก็ปาเข้าไปสี่ทุ่ม ส่วนนายหน้าไทยและนายหน้าพม่าก็มาปักหลักกันอย่างเอิกเกริก  พลอยให้ร้านค้าอาหารบริเวณใกล้เคียงต่างก็ขายดิบขายดีไปตามกัน...


  











   ผังขั้นตอนพิสูจน์สัญชาติ

            
                                   

    

 หลับจนตื่น...ก็ยังไม่ถึงคิวเราเสียที



แรงงานพม่าที่ศูนย์พิสูจน์ฯสมุทรสาครเข้าแถวรอรับการพิสูจน์สัญชาติจนดึกดื่น  

                                     

               ภาพรวมของระบบการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติจากประเทศลาว พม่า กัมพูชาในประเทศไทยล้วนดำเนินการโดยผ่านบริษัทเอกชนทั้งสิ้น ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีได้แก่ความสะดวกที่ภาครัฐไม่ต้องระดมสรรพกำลังบุคลากรเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการพิสูจน์สัญชาติเอง   แต่ข้อเสียที่ชัดเจนคือการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากแรงงานสูงกว่าต้นทุนที่แท้จริงและแรงงานก็เหมือนถูกมัดมือชกให้จ่ายเงินเหล่านั้น ขณะที่บริษัทนายหน้าบางแห่งเรียกเก็บค่าใช้จ่ายหยุมหยิมยิบย่อย แต่กลับไม่มีใบเสร็จรับเงิน


            ข้อแตกต่างระหว่างหนังสือเดินทางแบบเก่าและแบบใหม่

             หนังสือเดินทางชั่วคราวรูปแบบใหม่มีรูปลักษณ์ที่สวยงามดูเป็นมาตรฐานยิ่งขึ้น (น่าจะเรียกได้ว่ายุค 2 G : 2 Generation)  ทั้งภาพถ่ายที่สแกนลงไปในหน้ากระดาษ และข้อมูลส่วนบุคคลถูกจัดพิมพ์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์  ต่างจากเล่มสีแดงที่กระบวนการจัดทำ ใช้วิธีติดภาพถ่ายแล้วเคลือบพลาสติก ขณะที่รายละเอียดข้อมูลส่วนบุคคลจะใช้วิธีที่เขียนด้วยลายมือ ทำให้บางครั้งอ่านตัวอักษรหรือเลขไม่ชัดเจน  ซึ่งผู้รู้บางท่านให้ความเห็นว่าเป็นกระบวนการออกหนังสือเดินทางเดิมไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลเท่าที่ควร หรือง่ายต่อการปลอมแปลงเอกสาร
             นอกจากนี้  หมายเลขหนังสือเดินทาง (passport  no.) ของแรงงานที่ได้รับหนังสือเดินทางรูปแบบใหม่ จะเป็นตัวอักษรขึ้นต้นด้วย T  ตั้งแต่หมวด TA เป็นต้นไป  เช่น ของสมุทรปราการเป็น TF  ส่วนสมุทรสาครเป็น TE  ไม่ใช่  KT, MWD และ TCL เช่่นในอดีต  (ได้แก่ จังหวัดเกาะสอง เมียวดีและท่าขี้เหล็ก ตามลำดับ) โดยหนังสือเดินทางฉบับใหม่ของคนเก่า จะระบุหมายเลขหนังสือเดินทางทั้งเก่าและใหม่ไว้คู่กัน  ซึ่งน่าสนใจว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จะต้องมาตั้งต้นทำความเข้าใจเอกสารใหม่เหล่านี้ และแรงงานจะต้องลำบากกันอีกหรือไม่...

หนังสือเดินทางแบบเก่า เขียนด้วยลายมือ


หนังสือเดินทางรูปแบบสวยงาม เป็นสากล
          สังเกตว่าจะมีหมายเลขหนังสือเดินทางตรงมุมบนด้านขวา
                ทั้งหมายเลขปัจจุบัน และหมายเลขเก่า (Old passport No.)
                โดยแรงงานจะต้องหันมาใช้หมายเลขใหม่นี้ทั้งหมด


                          
                         ก่อนจะมาเป็น passport

   

            ค่าใช้จ่ายการพิสูจน์สัญชาติและเปลี่ยนเล่มหนังสือเดินทาง

           ตัวอย่างที่พบด้วยตนเองเช่น ค่าบริการเปลี่ยนเล่มหนังสือเดินทางชั่วคราวของแรงงานที่เคยพิสูจน์สัญชาติ(มีหนังสือเดินทางเล่มสีแดง)  อัตราปกติเพียง 550 บาท    แต่ถึงเวลากลับถูกบริษัทเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆเกินที่กำหนด  นอกจากนี้ ในกรณีแรงงานข้ามชาติที่อายุจริงไม่ถึง 18 ปี  นายหน้าบางรายจะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายหรือเงินกินเปล่าเพิ่มอีกคนละประมาณ 500 บาท
             ล่าสุด รัฐบาลขยายระยะเวลาการพิสูจน์สัญชาติออกไปอีกจนถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2555 (เป็นอย่างน้อย) โดยประมาณว่ามีแรงงานข้ามชาติชาวพม่ารับการพิสูจน์สัญชาติแล้วประมาณ8แสนคน(คมชัดลึก,2มิถุนายน2555)
                
     
ป้ายภาษาพม่าระบุค่าใช้จ่ายเปลี่ยนหนังสือเดินทางเป็นเงิน  550  บาท   
           และค่าธรรมเนียมต่ออายุ VISA  330 บาท
             
   
               ท้ายสุดนี้  ผู้เขียนเองในฐานะที่คลุกคลีกับแรงงานจากพม่าอยู่บ้าง  และประเด็น Passport เป็นหัวข้อการสนทนายอดนิยมของแรงงานเหล่านี้มาตลอดสามสี่ปี  และส่วนตัวก็เห็นด้วยต่อกระบวนการออกหนังสือเดินทาง (พิสูจน์สัญชาติ) ที่เป็นมาตรฐาน ทำให้ปรับสถานะเป็นแรงงานถูกกฎหมาย  ส่วนแรงงานข้ามชาติอย่างไรเสียก็ต้องจำยอมจ่ายเงินอย่างไม่อาจขัดขืนอยู่แล้ว  ขณะที่ยังปรากฏสถานการณ์ที่แรงงานข้ามชาติถูกคุกคามด้วยข้อหาต่างๆนานา แล้วแต่ผู้มีอำนาจจะสรรหามากำนัล   รวมไปถึงสภาพปัญหาหนึ่งที่คาดไม่ถึงว่าจะเกิดคือ... การนำหนังสือเดินทางชั่้วคราวไปจำนำแลกเงินสด  ซึ่งพบว่าบริษัทเอกชนที่รับพิสูจน์สัญชาติบางแห่งดำเนินการลักษณะท้าทายกฎหมายอยู่.